Saturday, June 22, 2013

รู้ทัน ป้องกันปอดอักเสบ

ปอดอักเสบคืออะไร 

ปอดอักเสบหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ปอดบวม” เพราะมีลักษณะการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะที่บริเวณถุงลมของปอด ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อเป็นแล้วทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทำให้มีโอกาส เกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง
ผู้ป่วยปอดอักเสบร้อยละ 8-10 มีการติดเชื้อระบบหายใจเฉียบพลัน นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีโรคติดเชื้อในเด็กเป็นสาเหตุของโรค ดังนั้นการวินิจฉัยโรคนี้จึงต้องทำอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการรักษาหรือป้องกันอย่างเหมาะสมก็ล้วนมีความสำคัญมากเช่นกัน
รู้ทัน ป้องกันปอดอักเสบ
(ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต)

สาเหตุการเกิดโรคปอดอักเสบ

เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่โดยทั่วไปพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า
ทั้งจากไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบ  แต่โดยทั่วไปในกลุ่มเด็กเล็กนั้นจะพบว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือ จากเชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน
โดยเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบที่พบบ่อยในเด็กได้แก่ เชื้อ respiratory syncytial virus (RSV) เชื้อ influenza (ไข้หวัดใหญ่) เชื้อ parainfluenza
ส่วนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุนั้น  พบว่าเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus  pneumoniae) มากที่สุด เชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุปอดอักเสบได้แก่ เชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type B), เชื้อ Staphylococcus aureus, group B. Streptococcus, Escherichia coli หรือกลุ่มเชื้อมัยโคพลาสมา/คลามัยเดีย (Mycoplasma pneumoniae, Chlamydia pneumonia)

ระยะฟักตัวของโรค

ไม่แน่ชัด ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อาจสั้นเพียง 1 - 3 วัน หรือนาน 1 - 4 สัปดาห์
ลักษณะการติดเชื้อ มีด้วยกันหลายทาง ดังนี้
  1. การสำลักเชื้อที่สะสมรวมกลุ่มอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงไปสู่เนื้อปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร หากในระยะนี้ผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน  หรือมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ก็จะทำให้เกิดปอดอักเสบได้
  2. การหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง การสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็ก เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบจากกลุ่มเชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค และเชื้อรา จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเหล่านี้ได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกัน โดยเฉพาะครอบครัว ชั้นเรียน ห้องทำงาน สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน หรือในบริเวณที่มีคนอยู่แออัด
  3. การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต เป็นทางสำคัญที่ทำให้เกิดปอดอักเสบจากเชื้อที่ก่อโรคในอวัยวะอื่น
  4. การลุกลามโดยตรงจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอดเช่น เป็นฝีในตับแล้วแตกตัวเข้าสู่เนื้อปอด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ 

  1. เด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำได้แก่ เด็กที่อายุน้อย, เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย, เด็กคลอดก่อนกำหนด,  เด็กที่มีภาวะทพโภชนาการ
  2. เด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคทางสมองที่มีการดูดกลืนผิดปกติ
  3. เด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด สุขาภิบาลไม่ดี
  4. เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลรอบข้าง
  5. เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีเด็กมากๆ

อาการแสดงของโรคปอดอักเสบ

ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค มักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาการปอดอักเสบที่พบบ่อยคือ
  1. ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย (มีอาการหายใจลำบาก  หายใจเร็ว รับประทานนมหรือดูดนมลำบาก จมูกบาน ซี่โครงบาน อกบุ๋ม ซึม และอาจมีอาการตัวเขียวได้)
  2. ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร้องกวนและงอแง ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้
  3. อาการในเด็กทารกส่วนมากจะไม่มีลักษณะเฉพาะ  ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ
  4. ในเด็กโตอาจมีอาการเจ็บหน้าอกที่เป็นมากเวลาหายใจเข้าออกได้

ภาวะแทรกซ้อนของปอดอักเสบ

  1. การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด กรณีสาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
  2. ภาวะช็อค กรณีติดเชื้อรุนแรง
  3. ภาวะมีน้ำหรือเป็นหนองในเยื่อหุ้มปอด
  4. ภาวะฝีในปอด
  5. ภาวะการหายใจล้มเหลว

วิธีการรักษา

ขึ้นอยู่กับเชื้อก่อโรค ความรุนแรง และสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไปแบ่งการรักษาออกเป็นสองกลุ่มคือ

1. การรักษาจำเพาะ

  • ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาที่จำเพาะ ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านไวรัส (oseltamivir or Tamiflu) ส่วนสาเหตุจากไวรัสชนิดอื่นๆ ควรให้การรักษาแบบประคับประคอง 
  • ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเร็วที่สุดทันทีที่ได้รับการ วินิจฉัยว่ามีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย การพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะควรเลือกใช้ตามเชื้อที่คิดว่าเป็นสาเหตุ 

2. การรักษาทั่วไป

  • ให้สารน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและงด อาหารทางปาก
  • ให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการตัวเขียว หายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวายหรือซึม
  • ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่ได้ยินเสียงหลอดลมตีบ
  • แพทย์อาจพิจารณาให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำ เต็มที่ แต่เสมหะยังเหนียวอยู่ ไม่ควรให้ยากดอาการไอโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำ กว่า 5 ปี
  • ทำกายภาพบำบัดทรวงอก (chest physical therapy) เพื่อช่วยให้เสมหะถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น
  • การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้
  • ผู้มีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ แพทย์จะพิจารณาถึงการใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ
  • ห่างไกลจากโรคปอดอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่ควรพาไปในสถานที่ดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ภาวะทุพโภชนาการ ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจล
  • ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย และผู้ป่วยควรใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  • ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนสำหรับป้องกันโรคปอดบวม (Hib vaccine, Pneumococcal vaccine: IPD) รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine)
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอน พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกาย
  • ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับ ผู้อื่น
โปรดสังเกต!! หากบุตรหลานของท่านมีอาการไข้ ไอ หอบ ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็วเพื่อจะได้รับการรักษาปอดอักเสบอย่างทันท่วงที