ปอดอักเสบคืออะไร
ปอดอักเสบหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ปอดบวม” เพราะมีลักษณะการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะที่บริเวณถุงลมของปอด ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย เมื่อเป็นแล้วทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลทำให้มีโอกาส เกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงผู้ป่วยปอดอักเสบร้อยละ 8-10 มีการติดเชื้อระบบหายใจเฉียบพลัน นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีโรคติดเชื้อในเด็กเป็นสาเหตุของโรค ดังนั้นการวินิจฉัยโรคนี้จึงต้องทำอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการรักษาหรือป้องกันอย่างเหมาะสมก็ล้วนมีความสำคัญมากเช่นกัน
(ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต)
สาเหตุการเกิดโรคปอดอักเสบ
เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่โดยทั่วไปพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่าทั้งจากไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบ แต่โดยทั่วไปในกลุ่มเด็กเล็กนั้นจะพบว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือ จากเชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียร่วมกัน
โดยเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบที่พบบ่อยในเด็กได้แก่ เชื้อ respiratory syncytial virus (RSV) เชื้อ influenza (ไข้หวัดใหญ่) เชื้อ parainfluenza
ส่วนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุนั้น พบว่าเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) มากที่สุด เชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุปอดอักเสบได้แก่ เชื้อฮิบ (Haemophilus influenzae type B), เชื้อ Staphylococcus aureus, group B. Streptococcus, Escherichia coli หรือกลุ่มเชื้อมัยโคพลาสมา/คลามัยเดีย (Mycoplasma pneumoniae, Chlamydia pneumonia)
ระยะฟักตัวของโรค
ไม่แน่ชัด ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ อาจสั้นเพียง 1 - 3 วัน หรือนาน 1 - 4 สัปดาห์ลักษณะการติดเชื้อ มีด้วยกันหลายทาง ดังนี้
- การสำลักเชื้อที่สะสมรวมกลุ่มอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงไปสู่เนื้อปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร หากในระยะนี้ผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน หรือมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย ก็จะทำให้เกิดปอดอักเสบได้
- การหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง การสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยขนาดเล็ก เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบจากกลุ่มเชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค และเชื้อรา จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อเหล่านี้ได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกัน โดยเฉพาะครอบครัว ชั้นเรียน ห้องทำงาน สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน หรือในบริเวณที่มีคนอยู่แออัด
- การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต เป็นทางสำคัญที่ทำให้เกิดปอดอักเสบจากเชื้อที่ก่อโรคในอวัยวะอื่น
- การลุกลามโดยตรงจากการติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอดเช่น เป็นฝีในตับแล้วแตกตัวเข้าสู่เนื้อปอด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ
- เด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำได้แก่ เด็กที่อายุน้อย, เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย, เด็กคลอดก่อนกำหนด, เด็กที่มีภาวะทพโภชนาการ
- เด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคทางสมองที่มีการดูดกลืนผิดปกติ
- เด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด สุขาภิบาลไม่ดี
- เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลรอบข้าง
- เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีเด็กมากๆ
อาการแสดงของโรคปอดอักเสบ
ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค มักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาการปอดอักเสบที่พบบ่อยคือ- ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย (มีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว รับประทานนมหรือดูดนมลำบาก จมูกบาน ซี่โครงบาน อกบุ๋ม ซึม และอาจมีอาการตัวเขียวได้)
- ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร้องกวนและงอแง ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้
- อาการในเด็กทารกส่วนมากจะไม่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ
- ในเด็กโตอาจมีอาการเจ็บหน้าอกที่เป็นมากเวลาหายใจเข้าออกได้
ภาวะแทรกซ้อนของปอดอักเสบ
- การติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด กรณีสาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- ภาวะช็อค กรณีติดเชื้อรุนแรง
- ภาวะมีน้ำหรือเป็นหนองในเยื่อหุ้มปอด
- ภาวะฝีในปอด
- ภาวะการหายใจล้มเหลว
วิธีการรักษา
ขึ้นอยู่กับเชื้อก่อโรค ความรุนแรง และสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไปแบ่งการรักษาออกเป็นสองกลุ่มคือ1. การรักษาจำเพาะ
- ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาที่จำเพาะ ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านไวรัส (oseltamivir or Tamiflu) ส่วนสาเหตุจากไวรัสชนิดอื่นๆ ควรให้การรักษาแบบประคับประคอง
- ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเร็วที่สุดทันทีที่ได้รับการ วินิจฉัยว่ามีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย การพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะควรเลือกใช้ตามเชื้อที่คิดว่าเป็นสาเหตุ
2. การรักษาทั่วไป
- ให้สารน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและงด อาหารทางปาก
- ให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการตัวเขียว หายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวายหรือซึม
- ใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่ได้ยินเสียงหลอดลมตีบ
- แพทย์อาจพิจารณาให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำ เต็มที่ แต่เสมหะยังเหนียวอยู่ ไม่ควรให้ยากดอาการไอโดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำ กว่า 5 ปี
- ทำกายภาพบำบัดทรวงอก (chest physical therapy) เพื่อช่วยให้เสมหะถูกขับออกจากปอดและหลอดลมได้ดีขึ้น
- การรักษาอื่นๆ ตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้
- ผู้มีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ แพทย์จะพิจารณาถึงการใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ
- ห่างไกลจากโรคปอดอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่ควรพาไปในสถานที่ดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ภาวะทุพโภชนาการ ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจล
- ไม่ควรให้เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงคลุกคลีกับผู้ป่วย และผู้ป่วยควรใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนสำหรับป้องกันโรคปอดบวม (Hib vaccine, Pneumococcal vaccine: IPD) รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine)
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดื่มน้ำมากๆ นอน พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกาย
- ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับ ผู้อื่น